

การจัดการพลังงานและสภาพภูมิอากาศ
ผลการดำเนินงาน
ลดปริมาณการใช้พลังงาน
ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(ขอบเขต 1 & 2)

การจัดการพลังงานและสภาพภูมิอากาศ
เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาแนวปฏิบัติที่หลากหลายเพื่อจัดการพลังงานและสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมโครงการริเริ่มและความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า
ในปี 2566 โอสถสภาได้ดำเนินโครงการประหยัดพลังงานหลายโครงการ โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ

การลดการใช้พลังงาน
โอสถสภาตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบดังกล่าว บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาประสิทธิภาพ ผ่านการปรับปรุงกระบวนการและการบริหารจัดการการใช้พลังงาน ทั้งนี้ การลดการใช้พลังงานถือเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ อีกด้วย
ปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน
*นับรวมจากปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากกะลาปาล์ม, ชีวมวลอัดเม็ด และไฟฟ้าที่ผลิตเองจากพลังงานแสงอาทิตย์
ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
โอสถสภาส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ช่วยให้บริษัทฯ สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานรูปแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้โอสถสภายังมุ่งมั่นในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีการพัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(SDGs)
นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสููง รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

การนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่
นำความร้อนเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตขวดแก้วมาผลิตเป็นไอน้ำสำหรับใช้ในโรงงานผลิตเครื่องดื่ม

ระบบ Double Pass Regenerators
ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้ความร้อนล่วงหน้า โดยอาศัยระบบ Double Pass Regenerators

โครงการปรับปรุงรูปแบบวัตถุดิบที่จำหน่ายให้กับธุรกิจระหว่างประเทศของโอสถสภา
ในปี 2565 โอสถสภาได้ลงทุนกว่า 500,000 บาทในการปรับปรุงรูปแบบการส่งออกวัตถุดิบไปยังประเทศเมียนมาร์ให้อยู่ในรูปแบบผง ทดแทนของเหลวรูปแบบเดิม โดยช่วยลดต้นทุนและก่อให้เกิดความยั่งยืนในหลายขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การขนส่ง จนถึงการผลิตสินค้าสำเร็จรูป โครงการดังกล่าว สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 510 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 6,670 กิกะจูลต่อปี และลดการใช้น้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งส่งผลให้ลดต้นทุนได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อปี

โครงการยกเลิกขั้นตอนหมุนเวียนน้ำร้อน RO ในกระบวนการ CIP เพื่อลดการใช้พลังงาน
โอสถสภา วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต โดยยังคงประสิทธิภาพเดิม พร้อมลดการใช้พลังงานด้วยการยกเลิกขั้นตอนหมุนเวียนน้ำร้อน RO ในกระบวนการ CIP (Cleaning In Place) ที่ซ้ำซ้อนกับกระบวนการ SIP (Sterilization In Place) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 86 ตัน CO2e/ปี ลดการใช้พลังงานกว่า 1,000 GJ/ปี และลดการใช้น้ำ 480 ลูกบาศก์เมตร/ปี งบประมาณการศึกษาวิจัยราว 600,000 บาท

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องล้างขวดแก้ว
โอสถสภาลงทุนกว่า 800,000 บาท เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องล้างขวดแก้วโดยพิจารณษร่วมกับกระบวนการผลิตที่ใช้ความร้อนแบบองค์รวมที่โรงงานบรรจุเครื่องดื่ม พร้อมกับปรับเวลาและอุณหภูมิให้เหมาะสม เพื่อให้เครื่องล้างขวดแก้วสามารถทำงานได้ตามมาตรฐาน โครงการดังกล่าวสามารถ ลดการใช้พลังงานกว่า 3,064 กิกะจูล/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 257 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี และ ลดการใช้น้ำกว่า 48,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี

โครงการติดตั้งหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล
โอสถสภาลงทุนกว่า 55 ล้านบาทในการติดตั้งหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล แนวนอนแบบดรัมเดี่ยวพร้อมตะแกรงโซ่เคลื่อนที่ ซึ่งใช้เปลือกปาล์มเป็นเชื้อเพลิง มีความสามารถในการผลิต 15 ตันต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพสูงกว่า 90% เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านความยั่งยืน
โอสถสภาจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจพร้อมระดมความคิดด้านความยั่งยืน เช่นการลดก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึง การบริหารจัดการของเสีย ให้กับ พนักฝ่ายปฏิบัติการรวมทั้งหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

พลังงานชีวมวล
ใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนชีวมวลที่ผลิตจากกะลาปาล์มเหลือทิ้งในกระบวนการอุตสาหกรรมเกษตร และชีวมวลอัดเม็ดในการผลิตไอน้ำให้ความร้อนสำหรับกระบวนการผลิตเครื่องดื่ม
ผลิตพลังงานทดแทน
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พลังงานแสงอาทิตย์
ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาที่โรงงานโอสถสภา 5 แห่ง รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 7,218,771 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ผลิตพลังงานทดแทน
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เพื่อให้สอดคล้องกับการรายงานความก้าวหน้าตามกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UNGC Communication on Progress) และแผนแม่บท รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โอสถสภายังคงมีความคิดริเริ่มในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ขององค์กร
โอสถสภามีการติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม (ขอบเขต 1&2) อย่างสม่ำเสมอ ตามมาตรฐานการประเมินและการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กร (Carbon Footprint Organization) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย (TGO)