ผลการดำเนินงาน

เป้าหมาย 2568
% คะแนนการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงาน
76%
เป้าหมาย 2567
18 hours
จำนวนชั่วโมงอบรมเฉลี่ยของพนักงาน
ผลการดำเนินงาน 2567
29.56 hours

การส่งเสริมการพัฒนาความสามารถของพนักงาน

การเสริมสร้างความสามารถของพนักงานเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการเติบโตของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ บริษัทจึงมีแนวทางการดำเนินงานโดยมุ่งหวังให้พนักงานสามารถปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้จัดตั้ง OSP Academy ขึ้นเพื่อพัฒนาเพิ่มพูนทักษะและติดตามความสามารถของพนักงานเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเน้นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (70-20-10) ทั้งจากการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ การเรียนผ่านระบบ e-Learning การฝึกสอน และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงผ่านการลงมือปฏิบัติ นอกจากนี้ บริษัทยังส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชัน OSP Life และ Development Impact Journey เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็น พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานให้เอื้อต่อการแสดงศักยภาพของพนักงานอย่างเต็มที่

โดยปี 2567 บริษัทได้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรผ่าน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรพื้นฐาน (Fundamental Skill) 2) หลักสูตรเฉพาะด้าน (Functional Skill) 3) หลักสูตร Soft Skill 4) หลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการทำงานในอนาคต (Future Readiness) 5) หลักสูตรเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท (Business Acumen) และ 6) หลักสูตรความเป็นผู้นำ (Leadership)

หลักสูตรเฉพาะทางแต่ละหน่วยงาน (Functional Program)
ทักษะพื้นฐาน ความรู้ และแนวคิดที่จำเป็นสำหรับการเป็นพนักงานของโอสถสภา
หลักสูตรเฉพาะทางแต่ละหน่วยงาน (Functional Program)
ทักษะและความรู้ที่สำคัญเพื่อความเป็นเลิศในบทบาทเฉพาะทางและการทำงานข้ามสายงาน
หลักสูตรพัฒนา Soft Skill
ทักษะและแนวคิดที่สำคัญ เน้นการพัฒนาทักษะด้านบุคคลเพื่อความสำเร็จในที่ทำงาน
หลักสูตรทักษะเพื่อการทำงานในอนาคต (Future Readiness Program)
ทักษะ และแนวคิดที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
หลักสูตรเพื่อความเข้าใจทางธุรกิจ (Business Acumen Program)
ทักษะ ความรู้ที่และแนวคิดที่จำเป็นสำหรับการเข้าใจบริบททางธุรกิจของบริษัท
หลักสูตรพัฒนาความเป็นผู้นำ (Leadership Program)
ทักษะ ความรู้ และแนวคิดที่สำคัญในการเป็นผู้นำทีมและขับเคลื่อนผลลัพธ์
ปี 2564 ปี 2565 ปี 2566 ปี 2567 เป้าหมาย ปี 2567
จำนวนชั่วโมงอบรมเฉลี่ยของพนักงาน 13.00 18.56 19.29 29.56 18.00
ปี 2567
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ใช้ในการฝึกอบรม -

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

โอสถสภาได้จัดการฝึกอบรบเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงานทั้งในระดับหัวหน้างานและระดับปฏิบัติการ ซึ่งในปี 2566 มีโครงการที่สำคัญ ดังนี้

โครงการฝึกอบรม OSP Leadership Way

บริษัทได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำให้แก่หัวหน้างานระดับ Head of/Specialist โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ด้านการบริหารบุคลากร เช่น การรับพนักงานใหม่ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการให้ผลตอบแทน รวมทั้ง พัฒนาทักษะการบริหารทีมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2567 มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน (Head of/Specialist) เข้ารับการอบรม 232 คน คิดเป็นร้อยละ 96 ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโครงการนี้ช่วยสร้างผู้นำที่สามารถนำความรู้และเครื่องมือไปใช้ในการบริหารทีมได้อย่างมีประสิทธิผล พร้อมทั้งใช้หลักการ Feedback อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการรักษาและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่าให้อยู่กับองค์กรอย่างยั่งยืน

ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน (Head of/Specialist) เข้ารับการอบรม
232 คน (คิดเป็น 96%)

ผลลัพธ์เชิงตัวเลข (Numeric or Measurable Outcomes)

  • อัตราการลาออกของพนักงานระดับหัวหน้า (Head of Level) ลดลง ปี 2023: 15.9% ปี 2024: 14.3% >>ลดลง 1.6%
  • คะแนนด้านความสามารถของผู้จัดการจากผลสำรวจ EES ปี 2024 อยู่ที่ 75% ซึ่งอยู่ในระดับ เป็นไปตามความคาดหวัง (Meet Expectation)
  • การประหยัดงบประมาณด้านการพัฒนา โดยใช้วิทยากรภายใน:
    • การฝึกอบรมสาธารณะที่มีต้นทุนเฉลี่ย 3,500 บาท/คน สำหรับผู้เข้าอบรม 190 คน ประหยัดงบประมาณได้ 665,000 บาท
    • โครงการฝึกอบรม In-house จำนวน 6 ครั้ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายครั้งละ 30,000 บาท รวม 180,000 บาท ประหยัดงบประมาณได้ 180,000 บาท

ผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ตัวเลข (Non-Numeric / Side Benefits)

สามารถถ่ายทอดเนื้อหาในการบริหารคนในบริบทของ OSP โดยเฉพาะ (OSP Way) ไม่ใช่เพียงแนวทางทั่วไปในการบริหารคนเท่านั้น ทำให้เกิดความเข้าใจและการนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทองค์กร

โครงการฝึกอบรม Frontline Leader Program

บริษัทได้ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพหัวหน้างาน (Lead) ให้เป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีความสามารถทั้งในการบริหารงานและบริหารบุคลากร โดยมุ่งเน้นให้หัวหน้างานสามารถถ่ายทอดการปฏิบัติงานที่ถูกต้องและเข้าใจได้ชัดเจนสู่พนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้ง เพิ่มปริมาณผลผลิตขององค์กร โดยในปี 2567 มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน (Lead) เข้าร่วมการอบรม 122 คน คิดเป็น 100% ซึ่งผู้ร่วมโครงการสามารถนำความรู้ไปลดข้อผิดพลาดในองค์กร เหลือน้อยกว่า 10 เคสต่อปี พร้อมทั้งใช้หลักการ Feedback อย่างต่อเนื่องทุก 2 เดือน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบริหารทีมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หัวหน้างานยังสามารถนำเสนอผลงานให้กับผู้บริหารได้ตามหลักการวิธีการนำเสนอตามโครงสร้างที่กำหนด

ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน (Lead) เข้ารับการอบรม
122 คน (คิดเป็น 100%)
สามารถลดปัญหาเกี่ยวกับการทำความผิดของพนักงานในองค์กร
น้อยกว่า 10 เคสต่อปี

Osotspa Open House 2023

โอสถสภาเปิดบ้านให้กับน้องๆ คนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหารมืออาชีพที่ฒโอสถสภา สำนักงานใหญ่ และโรงงานผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม (อยุธยา)

ในงานได้พบกับ Talk Session จากทีมผู้บริหารทุกสายงานที่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ขององค์กรอายุกว่า 130 ปี

  • Meet the CEO and Leaders โอกาสหายากในการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับ CEO เบอร์หนึ่งของบริษัทฯ และทีมผู้บริหารสายงานต่าง ๆ จากโอสถสภา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ วัฒนธรรม และเรื่องราวความท้าทายในการทำงานในธุรกิจ FMCG
  • Fast-Track Job Application โอกาสที่จะได้รู้จักตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่โอสถสภาเปิดรับ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานประจำหรือตำแหน่งนักศึกษาฝึกงาน และสามารถสมัครได้ก่อนใคร
  • และกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พบปะเพื่อนใหม่ และความรู้อื่น ๆ อีกมากมาย ที่งาน OSOTSPA Open House

Internship (นักศึกษาฝึกงาน)

O-Interns 2023 (Osotspa Internship Program) โปรแกรมฝึกงานที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงโดยมุ่งเน้นการทำโปรเจคที่น่าสนใจตลอดระยะเวลาในการฝึกงาน เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาทุกคนจะได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกงานไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมต่อไปในอนาคต

พนักงาน

จำนวนแรงงานทั้งหมด

จำแนกตามสัญชาติ

การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน

การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท ตลอดจนสร้างความโปร่งใสเป็นธรรม และสนับสนุนการเติบโตอย่างมั่นคงทั้งในระดับบุคคลและองค์กรเพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งบริษัทได้นำผลการประเมินการทำงานของพนักงานมาใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดโครงการพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมถึงพิจารณากำหนดค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม โดยการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การบริหารผลการปฏิบัติงาน และการประเมินผลแบบทีม

(1) การบริหารผลการปฏิบัติงาน

บริษัทใช้ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System) เพื่อกำกับการทำงานของพนักงานให้บรรลุเป้าหมายองค์กร ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ความก้าวหน้าในสายอาชีพ และการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม การประเมินดำเนินการปีละ 2 ครั้ง ครอบคลุมพนักงานทุกระดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกระบวนการสำคัญ ได้แก่

  • การตั้งเป้าหมายต้นปี (Objective Setting) เพื่อให้พนักงานใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและพัฒนาตนเอง
  • การทบทวนผลงานกลางปี (Mid-Year Review) ทบทวนผลการปฏิบัติงานในช่วงกลางปี และติดตามความคืบหน้า เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีกระบวนการสอนงานและการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (Feedback) จากหัวหน้างานแก่พนักงาน
  • การประเมินปลายปี (Performance Appraisal) เพื่อวัดผลสำเร็จและวางเป้าหมายใหม่

ช่องทางรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลงานพนักงานแบบเรียลไทม์

บริษัทสนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านการสื่อสารแบบเรียลไทม์ (Agile Conversations) ระหว่างหัวหน้างานและพนักงาน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงาน สิ่งที่ทำได้ดี จุดที่ควรปรับปรุง และการวางแผนพัฒนาสายอาชีพ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทุกเวลา ช่วยเสริมสร้างความสำเร็จในระดับทีมและองค์กร รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของพนักงานอย่างยั่งยืน

(2) การประเมินผลแบบทีม

บริษัทได้จัดทำระบบประเมินผลการปฏิบัติงานแบบทีม (Team-based Performance Recognition) โดยกำหนดเป้าหมายทีมและถ่ายทอดสู่พนักงานรายบุคคล พร้อมกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจน ระบบการประเมินเน้นการทำงานร่วมกันในทีม โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ยอดขายรวมของทีม
  • อัตราการเติบโตของยอดขายของทีม
  • ประสิทธิภาพและพฤติกรรมในการทำงานของทีม

การประเมินครอบคลุมถึงพนักงานขาย โดยจัดทำเป็นประจำในรูปแบบรายไตรมาสและรายปี เพื่อให้มั่นใจถึงความสอดคล้องกับเป้าหมายและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของทีมและองค์กร

ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่พนักงาน

บุคลากรกับการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

โอสถสภานำแพลตฟอร์มดิจิทัลบนคลาวด์มาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร หรือ O-In-1 พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ส่วนตัว โดยแพลตฟอร์มช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในการจัดการงานส่วนบุคคลและทำงานร่วมกับทีม ผ่านเครื่องมือดิจิทัล นอกจากนี้ บนแพลตฟอร์มยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานและสร้างวัฒนธรรมการทำงานในเชิงบวก รวมถึงการมอบรางวัลและการยกย่องความสำเร็จของพนักงาน

โครงการ Fast Forward 10X

โครงการปรับเปลี่ยนองค์กรในหลายมิติ รวมถึงการจัดการด้านกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว คล่องตัว และการพัฒนาการบริหารบุคลากรให้มีทักษะความรู้หลายหลาย การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีความยืดหยุ่น ไม่หยุดเรียนรู้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

ความคล่องตัวในสถานที่ทำงาน

ด้วยข้อจำกัดในการเข้าปฏิบัติงานที่สำนักงาน โอสถสภาได้จัดให้มีแพลตฟอร์มพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานระยะไกลอย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ โปรแกรม MS Teams บริการ e-Form และการส่งคำขอใช้บริการต่าง ๆ หรือ Office Smart Service Request นอกจากนี้ สำหรับพนักงานที่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่สำนักงาน โอสถสภาได้จัดให้มีโต๊ะทำงานส่วนกลาง หรือ Hot Desk เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย ส่งเสริมให้พนักงานมีความคล่องตัวในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่น

โอสถสภายังเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานในหลากหลายรูปแบบเพื่อความคล่องตัวและยืดหยุ่น รวมถึงรองรับความต้องการที่แตกต่างของแต่ละบุคคลและลักษณะงาน

การปรับเวลาปฏิบัติงานอย่างยืดหยุ่น

โอสถสภากำหนดให้มีการยืดหยุ่นเวลาการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานในสำนักงานตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สอดคล้องกับความจำเป็นแต่ละบุคคล สภาพการจราจร และค่านิยมขององค์กรด้านคุณธรรมและความรับผิดชอบ (Integrity) โดยยังคงรักษามาตรฐานการทำงานและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ พนักงานสามารถบริหารจัดการเวลาปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับตนเองอย่างไร้ความกังวล ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ในขณะเดียวกันเพื่อให้พนักงานมีความปลอดภัยจากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีการปรับแนวทางให้พนักงานปฏิบัติงานจากบ้าน (Work From Home) ตามความเหมาะสมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา โอสถสภาได้จัดอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและแพลตฟอร์มพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานระยะไกลอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เก้าอี้ทำงาน โทรศัพท์มือถือ และช่องทางการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย

การดูแลบุตรหลานของพนักงาน

โอสถสภาช่วยแบ่งเบาภาระของพนักงานด้านการศึกษาของบุตร โดยมอบเงินช่วยเหลือการศึกษาให้แก่บุตรของพนักงาน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา

ห้องให้นมบุตร

สุขอนามัยของคุณแม่และทารกเป็นสิ่งสำคัญ โอสถสภาจึงจัดห้องมิดชิด สะอาด ปลอดภัย ให้กับพนักงานหญิงเพื่อทำการเก็บน้ำนมโดยเฉพาะ

การทำงานแบบพาร์ทไทม์

เพื่อเป็นการตอบสนองกับรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ และความต้องการส่วนบุคคล โอสถสภาจึงเปิดให้มีการจ้างงานแบบ Part -time ซึ่งพนักงาน Part-time ถือเป็นการจ้างงานประเภทหนึ่งที่มีรูปแบบการทำงานไม่เต็มเวลาหรือการทำงานแบบยืดหยุ่น เป็นการตกลงระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานเป็นรายบุคคล โดยมีสัญญาจ้างระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วันและเวลาทำงานต่อสัปดาห์หรือต่อเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ เป็นต้น